ประวัติ
ประวัติความเป็นมาของสำนักงานศึกษาธิการภาค 15
เมื่อปี พ.ศ.2435 กรมธรรมการได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นกระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาและการศาสนา
ต่อมาปี พ.ศ. 2452 กระทรวงธรรมการ ได้แต่งตั้งข้าหลวงธรรมการมณฑลพายัพ มาดูแลงานด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ในเขตท้องที่ และในปี พ.ศ. 2462 รัฐบาลได้เปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการเป็นกระทวงศึกษาธิการ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่จัดการศึกษาก็ได้เปลี่ยนตามไปด้วย คือ เป็นศึกษาธิการมณฑล ศึกษาธิการจังหวัด และในปีเดียวกันนี้ ก็ได้ตั้งตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอขึ้นอีกตำแหน่งหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2476 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงธรรมการอีกครั้งหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรม พุทธศักราช 2476 ตำแหน่งได้เปลี่ยนเป็นธรรมการมณฑลด้วย และในปี พ.ศ. 2479 ก็เปลี่ยนเป็นตำแหน่งข้าหลวงตรวจการธรรมการ
ต่อมาปี พ.ศ. 2484 รัฐบาลได้เปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการ เป็นกระทรวงศึกษาธิการและเปลี่ยนตำแหน่งข้าหลวงตรวจการธรรมการ เป็นข้าหลวงตรวจการศึกษาภาค และในปี พ.ศ.2495 ได้มีการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดให้ภาคเป็นราชการในส่วนภูมิภาคและให้มีหน้าหน้าส่วนราชการประจำภาค จึงได้เปลี่ยนตำแหน่งข้าหลวงตรวจการศึกษาภาคเป็นศึกษาธิการภาค และปี พ.ศ. 2500 ได้เปลี่ยนตำแหน่งศึกษาธิการภาค เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2504 ได้เปลี่ยนตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ตรวจการศึกษา
ในปี พ.ศ. 2516 รัฐบาลได้เปลี่ยนภาคการศึกษาเป็นเขตการศึกษาและเปลี่ยนตำแหน่งผู้ตรวจการศึกษาเป็นศึกษาธิการเขต จึงได้มีการแบ่งเขตท้องที่ของกระทรวงศึกษาธิการออกเป็นเขตการศึกษา 1-12 และเขตกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดให้เขตการศึกษา 8 มีเขตท้องที่ครอบคลุม 8 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบน
หลังจากนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ปรับปรุงบทบาทหน้าที่ของศึกษาธิการเขตอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517, 2522, 2526 และ 2532 กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานทางวิชาการเกี่ยวกับการศึกษา การศาสนาและการวัฒนธรรม ตรวจ นิเทศและติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัด และหน่วยงานในการควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ อบรมครูและเจ้าหน้าที่ทางการศึกษาตามที่ได้รับมอบหมาย ประสานงานในการวางแผนพัฒนาการศึกษา การศาสนาและการวัฒนธรรม ให้เป็นไปตามนโยบาย ปฏิบัติงานตามแผนงานและโครงการ ตามที่กระทรวงและกรมมอบหมาย รายงานเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวทางการศึกษา การประเมินผลงานของหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัด และในการควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการในเขตการศึกษา ต่อมาปี พ.ศ. 2535 กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดหน้าที่ของสำนักงานศึกษาธิการเขต ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับ ที่ 2) พ.ศ. 2535 ได้เปลี่ยนชื่อสำนักงานศึกษาธิการเขต เขตการศึกษา 1-12 เป็นสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เขตการศึกษา 1-12
ต่อมาปี พ.ศ.2538 ได้เปลี่ยนแปลงตำแหน่งศึกษาธิการเขต ซึ่งเป็นข้าราชการครูมาเป็น ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เขตการศึกษา เป็นข้าราชการพลเรือน โดยได้ปรับเลื่อนตำแหน่งขึ้นจากระดับ 8 เป็นระดับ 9 จนถึงปัจจุบัน และได้กำหนดโครงสร้างการบริหารงานตามแผนอัตรากำลังของสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เขตการศึกษา ปี พ.ศ. 2539-2542 ออกเป็น 2 ฝ่าย 3 กลุ่ม คือ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป ฝ่ายแผนงานและติดตามประเมินผล กลุ่มวิจัยและพัฒนา กลุ่มพัฒนามาตรฐานคุณภาพการศึกษา และกลุ่มพัฒนาบุคลากร
ในปี พ.ศ.2542 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานของสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เขตการศึกษา ตามแผนอัตรากำลังออกเป็น 5 กลุ่ม/ส่วน คือ ส่วนอำนวยการและประสานราชการ กลุ่มแผนงานและติดตามประเมินผล กลุ่มวิจัยและพัฒนา กลุ่มพัฒนามาตรฐานคุณภาพการศึกษา และกลุ่มพัฒนาทรัพยากรบุคคล กำหนดอัตรากำลังผู้ปฏิบัติงานไว้จำนวน 30 คน ในการปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่ ที่รับผิดชอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติภารกิจให้สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษา และคุณภาพชีวิตของเยาวชนและประชาชนให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ในอนาคต
ต่อมามีการปฏิรูประบบราชการและปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการให้มีเขตพื้นที่การศึกษาบริหารงานทางการศึกษา จำนวน 175 เขต และในปี พ.ศ.2546 ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 บัญญัติให้กระทรวงศึกษาธิการมีผู้ตรวจราชการของกระทรวง เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจราชการ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ติดตามและประเมินผลระดับนโยบาย เพื่อนิเทศให้คำปรึกษาและแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาเนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการมีหน่วยงานและสถานศึกษาที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาเป็นจำนวนมาก ตั้งอยู่ทั้งในส่วนกลางและในเขตพื้นที่การศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจึงได้จัดตั้งสำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ 1-12 และกรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานในฐานะเทียบเท่าสำนักในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2546 โดยมีตำแหน่งผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวง ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ 1-12 และบุคลากรปฏิบัติงานคือบุคลากรของสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เขตการศึกษา ที่ปฏิบัติงานอยู่เดิม
สำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ 1-12 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการที่ 1-13 ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ลงนามโดย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
สำนักผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 – 13 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 1 – 12 และกรุงเทพมหานคร ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง จัดตั้งสำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 1 – 12 และกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2551
พ.ศ. 2555 กระทรวงศึกษาธิการได้ยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง จัดตั้งสำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 1–12 และ กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551 และประกาศจัดตั้ง “สำนักงานศึกษาธิการภาค 1-13 (ศธภ. 1-13)” ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง จัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค 1-13 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555 เป็นหน่วยงานภายในที่มีฐานะเทียบเท่าสำนัก สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ชื่อว่าสำนักงานศึกษาธิการภาค 1 (เชียงใหม่)
พ.ศ. 2559 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีเอกภาพ และสามารถประสานเชื่อมโยงและบูรณาการภารกิจในเรื่องการศึกษาของประเทศ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้สอดรับกับแนวทางการบริหารงานโดยประชารัฐ เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปการศึกษาอันจะส่งผลในการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค จำนวนสิบแปดภาค สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการ ตามบัญชีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด เพื่อปฏิบัติภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่
พ.ศ. 2559 กระทรวงศึกษาธิการประกาศจัดตั้ง “สำนักงานศึกษาธิการภาค 1-18” ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง จัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 22 มีนาคม 2559 เพื่อให้การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามข้อ 2 และ ข้อ 7 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศให้ตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานศึกษาธิการภาค 15 ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ รับผิดชอบดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของสำนักงานศึกษาธิการภาค 1 ที่ตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง จัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค 1-13 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 27 กันยายน 2555 ไปเป็นของสำนักงานศึกษาธิการภาค 15 และเป็นที่ตั้งของสำนักงานศึกษาธิการภาค 15 ตามประกาศนี้
พ.ศ.2560 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2560 ข้อ 5 ให้มีการจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค จำนวน สิบแปดภาค สังกัดสำนังานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ได้แบ่งกลุ่มงานภายในออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มอำนวยการ 2.กลุ่มยุทธศาสตร์การศึกษา 3.กลุ่มบริหารงานบุคคล 4.กลุ่มพัฒนาการศึกษา 5.กลุ่มตรวจราชการและติดตามประเมินผล
พ.ศ. 2562 กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562 เรื่อง สถานที่จัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานศึกษาธิการภาค ๑๕ ตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนนห้วยแก้ว ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไปษณีย์ 50300 รับผิดชอบดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน